ความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์
ความหมายและความสำคัญของประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยพฤติกรรมหรือเรื่องราวของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในอดีต ร่องรอยที่คนในอดีตสร้างเอาไว้ เป้าหมายของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ คือ การเข้าใจสังคมในอดีตให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อนำมาเสริมสร้างความเข้าใจในสังคมปัจจุบัน
ความสำคัญของประวัติศาสตร์ สามารถสรุปได้ดังนี้
1. ประวัติศาสตร์ช่วยให้มนุษย์รู้จักตัวเอง กล่าวคือ ทำให้รู้บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับขอบเขตของตน ขณะเดียวกันก็รู้เกี่ยงกับขอบเขตของคนอื่น
2. ประวัติศาสตร์ช่วยให้เกดความเข้าใจในมรดก วัฒนธรรมของมนุษยชาติ ความรู้ ความคิดอ่านกว้างขวาง ทันเหตุการณ์ ทันสมัย ทันคน และสามารถเข้าใจคุณค่าสิ่งต่างๆในสมัยของตนได้
3. ประวัติศาสตร์ช่วยเสริมสร้างให้เกิดความระมัดระวัง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ฝึกฝนความอดทน ความสุขุมรอบคอบ ความสามารถในการวินิจฉัย และมีความละเอียดเพียงพอที่จะเข้าใจปัญหาสลับซับซ้อน
4. ประวัติศาสตร์เป็นเหตุการณ์ในอดีตที่มนุษย์สามารถนำมาเป็นบทเรียน และประยุกต์ใช้ในกระบวนการแก้ไขปัญหา และวิกฤตการณ์ต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักจริยธรรม คุณธรรม ทั้งนี้เพื่อสันติสุขและพัฒนาการของสังคมมนุษย์เอง
ลักษณะและประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ หมายถึง ร่องรอยของสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ รวมทั้งร่องรอยของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในอดีต และเหลือตกค้างมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องนำทางในการศึกษา สืบค้น แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยงกับเรื่องราวในอดีตของมนุษย์ได้ในระดับหนึ่ง
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามแบบสากล คือ
1. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ จารึก บันทึก จดหมายเหตุร่วมสมัย ตำนาน พงศาวดาร วรรณกรรมต่างๆ บันทึกความทรงจำ เอกสารราชการ หนังสือพิมพ์ กฎหมาย งานวิจัย งานพิมพ์ทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น ( ผนังถ้ำที่เป็นรูปวาดแต่สามารถแปลความหมายได้ จะถือว่าเป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ผนังขิงสุสานฟาโรห์ )
2. หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หลักฐานทางโบราณคดี หลักฐานจากการบอกเล่าและสัมภาษณ์ หลักฐานด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม นาฏกรรมและดนตรี หลักฐานทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี คติความเชื่อ วิถีชีวิตของกลุ่มชนต่างๆ ฯลฯ ( กำแพงเมือง เมืองโบราณ โครงกระดูก นับว่าเป็นหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร )
หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรและหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรมีข้อดี และจำกัด ดังนี้
ข้อดี
1. หลักฐานทั้ง 2 ช่วยในการสืบค้นความเป็นจริงในอดีต
2. การมีหลักฐานหลายอย่างช่วยทำให้ได้ความจริงมากขึ้น
3. การมีหลักฐานหลายอย่างสามารถตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพื่อหาความชัดเจนได้ดีขึ้น
ข้อจำกัด
1. หากผู้บันทึกหลักฐานลายลักษณ์อักษรไม่รู้เบื้องหลังของเหตุการณ์ที่แท้จริง หรือมีอคติกับเรื่องราวที่บันทึก ก็จะไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง
2. หลักฐานลายลักษณ์อักษรต้องอาศัยการตีความ การซักถามจากบุคคล หรือผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่การผิดพลาด หรือเข้าใจผิดได้
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไทยจะอาศัยหลักฐานทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยแบ่งความสำคัญของหลักฐานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.หลักฐานชั้นต้น หรือ หลักบานปฐมภูมิ (Primary Sources ) หมายถึง บันทึกหรือคำบอกเล่าของผู้พบเห็น หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือผู้ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ จดหมายเหตุ บันทึกการเดินทาง หลักฐานทางโบราณคดี แผนที่ ลายแทง เป็นต้น
2. หลักฐานชั้นรอง ( Secondary Sources ) หมายถึง ผลงานการค้นคว้าที่เขียนขึ้น หรือเรียบเรียงขึ้นภายหลังเกิดเหตุการณ์นั้นแล้ว โดยอาศัยหลักฐานขั้นต้นประกอบ อาจเพิ่มเติมความคิดเห็น หรือเหตุผลอื่นๆ ประกอบ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเอกสารต่างๆ เช่น พงศาวดาร ตำนาน เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น